สายสีชมพู

เว็บไซต์โครงการ ช่วงแคราย - มีนบุรี

เว็บไซต์โครงการ: https://www.mrta-pinkline.com/

วีดีทัศน์โครงการ


ความเป็นมาของโครงการ

      โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เป็นโครงการหนึ่งในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region: M-MAP) เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนแม่บทฯ ดังกล่าว จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ที่เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง รวมระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร โดยเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ลักษณะโครงการ

แนวเส้นทาง

     ระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรีและจังหวัดนนทบุรี โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณระหว่าง ศูนย์ราชการนนทบุรีและแยกแคราย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ) บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จากนั้นจะวิ่งเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าถนนติวานนท์ วิ่งตามถนนติวานนท์จนถึงแยกปากเกร็ด เลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ผ่านศูนย์ราชการ ผ่านทางแยกหลักสี่ เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange Station) เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทรา ยกระดับข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล จนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ จากนั้นจะข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและข้ามเข้าถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3 ) จนสิ้นสุดบริเวณทางแยกร่มเกล้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี มีความยาวของแนวเส้นทางทั้งสิ้นประมาณ 34.5 กิโลเมตร

โครงสร้าง

     ระบบคานคอนกรีตรูปตัวไอหล่อสำเร็จรูปจากโรงงานเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมสำหรับโครงสร้างทางวิ่งยกระดับมากที่สุด เนื่องจากโครงการเป็นทางยกระดับที่สร้างบนเกาะกลางถนน โครงสร้างทางวิ่งรูปแบบทั่วไปที่ใช้ในเส้นทางส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างเสาเดี่ยวสองทางวิ่ง คานทางวิ่งที่ยาวไม่เกิน 25 เมตรควรใช้เป็นคอนกรีตอัดแรง สำหรับคานทางวิ่งที่ยาวกว่า 25 เมตร ควรเป็นคานเหล็ก โครงสร้างเสาที่รองรับทางวิ่งยกระดับรถไฟฟ้านั้น แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบเสาเดี่ยวและแบบ Portal โดยมีระยะห่างช่วงเสา (Span Length) ประมาณ 20-30 เมตร เสาตั้งบนฐานราก (Pile Cap) โดยมีเสาเข็มเจาะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 1.8 เมตรหรือเสาเข็มเหลี่ยม (Barrette Pile) โดยระยะห่างระหว่างศูนย์กลางของทางวิ่ง สำหรับบริเวณทางตรง ควรมีระยะที่ 3.7 เมตร ในขณะที่บริเวณทางโค้งระยะห่างของ Track Beam ควรเพิ่มขึ้นตามรัศมีความโค้ง

สถานี

     ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 แห่ง โครงสร้างสถานีเป็นลักษณะโครงสร้างยกระดับเหนือพื้นผิวถนน ชานชาลาของสถานีจะอยู่ในรูปแบบของชานชาลาด้านข้างหรืออยู่ตรงกลางขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของใน แต่ละสถานี โดยบางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีบันไดเลื่อน ลิฟท์ ห้องน้ำ ป้ายประชาสัมพันธ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้พิการอีกด้วย

ศูนย์ซ่อมบำรุง

     ศูนย์ซ่อมบำรุงมีนบุรีตั้งอยู่บนพื้นที่ว่างริมถนนรามคำแหง ระหว่างซอยรามคำแหง 192 และคลองสองต้นนุ่น ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินขนาดประมาณ 229 ไร่ โดยมีพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ทั้งการตรวจสอบประจำ (Inspection) และการซ่อมบำรุง (Maintenance and Repair) พื้นที่สำหรับจอดรถไฟฟ้าและสำนักงานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งบริเวณนี้เป็นสถานีปลายทางทำให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าในช่วงเช้าเป็นไปได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ในบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงยังเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถและอาคารจอดแล้วจร ซึ่งสามารถให้บริการสำหรับผู้โดยสารทั้งของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มได้ โดยบริเวณด้านหน้ามีสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ระหว่างรถไฟฟ้าทั้งสองสาย

อาคารจอดแล้วจร

     อาคารจอดแล้วจรมี 1 แห่ง คือ สถานีมีนบุรี ซึ่งสามารถจอดรถได้ 3,000 คัน

คานทางวิ่ง

     Guideway Beam หรือคานทางวิ่งถูกติดตั้งไว้เป็นคู่ขนานกันไปตลอดทั้งเส้นทาง โดยระหว่างคานทางวิ่งมีการติดตั้ง Walkway เพื่อใช้สำหรับอพยพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงมีการติดตั้ง Conductor rail หรือรางจ่ายไฟตลอดทั้งเส้นทาง

ประเภทของคานทางวิ่งที่ใช้ในโครงการแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะโครงสร้าง คือ

     1. โครงสร้างเป็นคอนกรีต (Concrete Guideway Beam) เป็นคานทางวิ่งที่ใช้ทั่วไปในโครงการ มีความยาวประมาณ 30 เมตร

     2. โครงสร้างเป็นเหล็ก (Steel Guideway Beam) มีความยาวตั้งแต่ 20 – 70 เมตร ใช้ในช่วงเส้นทางที่มีรัศมีวงเลี้ยวแคบ หรือระยะห่างระหว่างเสามากกว่าปกติ เช่น ช่วงข้ามคลองหรือทางแยกขนาดใหญ่ 

ขบวนรถไฟฟ้า

     รถไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ โดยใน 1 ขบวน จะประกอบไปด้วยตู้ 4 ตู้ ซึ่งในอนาคตสามารถต่อตู้เพิ่มได้เป็น 7 ตู้ต่อขบวนซึ่งจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

     ขบวนรถเป็นแบบคร่อม (Straddle) ไร้คนขับซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ความเร็วในการให้บริการสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลัก Universal Design และระบบความปลอดภัยภายในขบวนรถแบบครบครัน จำนวนขบวนรถทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ 42 ขบวน

ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า

     ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลใช้ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าที่รับกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง ที่ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ ผ่านสถานีจ่ายไฟฟ้าประธาน (Bulk Substation: BSS) จำนวน 2 แห่ง ที่จะทำหน้าที่ปรับระดับแรงดันเป็น 24 กิโลโวลต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าย่อย (Service Substation) สำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ภายในสถานีและสถานีไฟฟ้าย่อยขับเคลื่อน (Traction Substation) สำหรับแปลงไฟฟ้าจากกระแสสลับเป็นไฟฟ้ากระแสตรงแรงดัน 750 โวลต์เพื่อจ่ายให้กับรางนำกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) ตามแนวสายทาง เพื่อใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้า

ระบบโดยรวม

     ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสาร อัตโนมัติของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี จะเหมือนกับสายเฉลิมรัชมงคล

อุปกรณ์ซ่อมบํารุงรถไฟฟ้า

     อุปกรณ์ซ่อมบํารุงรถไฟฟ้าถูกติดตั้งอยู่ภายในอาคาร Main Workshop ประกอบไปด้วย รถตรวจสอบ - ซ่อมบํารุงทางวิ่ง (Maintenance - Inspection Vehicle: MIV) อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ซ่อมแซม บํารุงรักษา ได้แก่ Overhead Crane ขนาด 2 ตัน และ 5 ตัน Bogie Maintenance Work Station (BMWS) อุปกรณ์เติมลมยาง รวมถึงอุปกรณ์ทําความสะอาดสําหรับขบวนรถไฟฟ้า ได้แก่ Train Wash Plant

ระบบประตูกั้นชานชาลา

     เป็นแผงประตูกั้นระหว่างชานชาลากับรางรถไฟฟ้าตลอดความยาวของชานชาลา เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยลักษณะของประตูท่ีใช้ในโครงการเป็นประตูแบบครึ่งบาน (Half Height Platform Screen Door) ทั้งหมด

ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

     ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ท้ังแบบตั๋วเท่ียวเดียวและแบบเติมเงินในบัตรโดยสาร รวมทั้งสามารถใช้บัตรเครดิตที่มี EMV Chip ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบจัดเก็บค่า โดยสารในระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Clearing House) ช่วยให้การจัดเก็บ ค่าโดยสารสามารถบริหารจัดการและตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ

วงเงินลงทุน

รายการ
เงินลงทุน
หน่วย
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
6,847
ล้านบาท
ค่าก่อสร้างงานโยธา
20,595
ล้านบาท
ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า
24,524
ล้านบาท
ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ
1,524
ล้านบาท
รวม
53,490
ล้านบาท


ลิงก์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด