โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง)

เว็บไซต์โครงการ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง)

เว็บไซต์โครงการ: http://www.chiangmai-transitredline.com/

วีดิทัศน์โครงการ


ความเป็นมาของโครงการ

          คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยมีความเห็นให้ดำเนินการก่อสร้างครั้งละ 1 เส้นทาง ตามลำดับความสำคัญ ซึ่งต่อมา สนข. ได้จัดลำดับความสำคัญของเส้นทาง พบว่า สายสีแดงมีความสำคัญลำดับที่ 1 ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้เห็นพ้องตามผลการหารือร่วมกันระหว่าง สนข. รฟม. และที่ปรึกษาของ สนข. ที่มีข้อสรุปว่าโครงข่ายรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดินมีความเหมาะสมมากที่สุด จึงได้มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ต่อไป

ลักษณะโครงการ

แนวเส้นทาง
      แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) วิ่งตามแนวเหนือใต้ เริ่มต้นบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์ โดยออกแบบโครงสร้างเป็นทางวิ่งระดับดิน วิ่งไปตามแนวถนนโชตนา (ทางหลวงหมายเลข 107) จนถึงบริเวณแยกศาลเชียงใหม่ แล้วเลี้ยวขวาวิ่งตามแนวถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ไปจนถึงแยกสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ข้ามคลองชลประทานแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนคันคลองชลประทาน ไปจนถึงบริเวณสี่แยกหนองฮ่อ แล้วจึงเลี้ยวซ้ายขนานไปกับถนนหนองฮ่อ (ทางหลวงหมายเลข 1366) ไปจนถึงแยกกองกำลังผาเมือง ซึ่งจุดนี้ ทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปลี่ยนจากทางวิ่งระดับดินเป็นทางวิ่งใต้ดิน จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนโชตนาอีกครั้ง ลอดผ่านทางลอดที่แยกข่วงสิงห์ ไปตามแนวถนนช้างเผือก ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ไปจนถึงถนนมณีนพรัตน์ (ถนนเลียบคูเมืองด้านนอกฝั่งทิศเหนือ) แล้วเลี้ยวขวาไปจนถึงแจ่งหัวลิน จึงเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนบุญเรืองฤทธิ์ ผ่านโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนถึงแจ่งกู่เฮือง ไปตามถนนมหิดล (ทางหลวงหมายเลข 1141) ไปจนถึงแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ วิ่งตรงไปยังแนวคลองระบายน้ำด้านข้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนจากระดับใต้ดินเป็นทางวิ่งระดับดิน แล้ววิ่งออกไปที่ถนนเชียงใหม่-หางดง (ทางหลวงหมายเลข 108) ไปสิ้นสุดบริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี


โครงสร้างทางวิ่ง
      โครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน มีระยะทางประมาณ 15.8 กม. (ทางวิ่งระดับดินประมาณ 9.3 กม. ทางวิ่งใต้ดินประมาณ 6.5 กม.)

ระบบรถไฟฟ้า
      ระบบรถรางไฟฟ้า (Tram)

สถานี
      ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับดิน 9 สถานี สถานีใต้ดิน 7 สถานี

ศูนย์ซ่อมบำรุง
      ศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการอยู่บริเวณแยกหนองฮ่อ

จุดจอดแล้วจร
      ในเบื้องต้นจุดจอดแล้วจรจะตั้งอยู่ที่สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี

วงเงินลงทุน

รายการ
เงินลงทุน 
หน่วย
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
2,861.88
ล้านบาท
ค่าก่อสร้างงานโยธา
21,040.21
ล้านบาท
ค่างานระบบและตัวรถไฟฟ้า
3,683.6
ล้านบาท
ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ
826.47
ล้านบาท
Provisional Sum
1,111.14
ล้านบาท
รวม
29,523.29
ล้านบาท

ที่มา

     กลุ่มที่ปรึกษา Chiang Mai Transit Red Line (CMTR)  ณ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ลิงก์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด